เพราะเรื่องของสายไฟ..ไม่ใช่อะไรก็ได้
โดยเฉพาะเรื่องของกระแสไฟรั่ว..เนื่องจากเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า..
พื้นฐานการต่อลงดิน
# การติดตั้งสายดินและการต่อลงดิน เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตเราและคนในครอบครัว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งค่ะ เพราะหากบ้านเราไม่มีการต่อลงดิน หากเกิดกรณีเครื่องใช้ไฟฟ้ามีไฟรั่ว แล้วเราไปสัมผัสส่วนที่มีไฟรั่ว กระแสไฟฟ้าจะไหลจากอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านตัวเราลงสู่พื้นดิน ทำให้เราถูกไฟดูดได้และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากมีกระแสไฟรั่วปริมาณมาก แต่ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการติดตั้งสายดินอย่างถูกต้อง # กระแสไฟฟ้าที่รั่วก็จะไหลผ่านสายดินแทน จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตค่ะ
วันนี้ เฟ้ลป์ส ดอดจ์ | Phelps Dodge นำความรู้เรื่องสายดินและการต่อลงดินที่ถูกต้องตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า สำหรับบ้านพักอาศัยมาแนะนำกัน ตามไปชมกันเลยค่ะ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการต่อลงดินกันก่อน การต่อลงดินเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก การต่อลงดินสำหรับระบบสายไฟฟ้าภายในอาคารประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
การต่อลงดินของระบบไฟฟ้า คือการต่อระบบไฟฟ้าลงดินที่แผงเมนสวิตช์ (ตู้เมนไฟฟ้า) ซึ่งมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้ากำหนดให้ต่อสายเส้นนิวทรัลลงดินโดยใช้สายต่อหลักดินผ่านลงไปที่หลักดินซึ่งฝังลงไปในดิน โดยให้ทำที่แผงเมนสวิตช์เพียงจุดเดียวและไม่ให้มีการต่อสายนิวทรัลเข้ากับสายดินที่จุดอื่นใดอีก
การต่อลงดินของอุปกรณ์ไฟฟ้า คือการเดินสายดินจากอุปกรณ์ไฟฟ้าไปต่อลงดินที่แผงเมนสวิตช์ โดยใช้หลักดินเดียวกันกับการต่อลงดินของระบบไฟฟ้าในข้อ1 สายดินเป็นสายที่เดินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นจากสายเส้นไฟและสายนิวทรัล โดยต่อจากโครงหรือส่วนที่เป็นโลหะเปิดโล่งของอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ด้านหลังของตู้เย็น , เครื่องปรับอากาศ , ไมโครเวฟ เป็นต้น ผ่านสายดินกลับไปที่แผงเมนสวิตช์และต่อลงดินที่หลักดิน ซึ่งในภาวะปกติสายดินจะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน เว้นแต่กรณีที่มีไฟรั่วที่อุปกรณ์ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านสายดินไปลงดิน ทำให้ไม่เกิดอันตรายต่อตัวบุคคลที่ไปสัมผัสบริเวณที่มีไฟรั่ว
ความสำคัญของการต่อลงดินอย่างถูกต้อง
เพื่อความปลอดภัยของบุคคล กรณีที่อุปกรณ์ไฟฟ้ามีไฟรั่ว หากไม่มีการต่อลงดิน เมื่อบุคคลไปสัมผัสจุดที่มีไฟรั่วกระแสไฟจะไหลผ่านร่างกายลงดิน ทำให้ถูกไฟดูดและเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ แม้กระแสไฟรั่วไม่ถึง 1 แอมแปร์
แต่หากมีการต่อลงดิน กระแสไฟที่รั่วจะไหลผ่านสายดินแทนเพราะสายดินมีความต้านทานทางไฟฟ้าต่ำกว่าความต้านทานของร่างกายคนอย่างมาก การต่อลงดินจึงสามารถป้องกันอันตรายจากการถูกไฟดูดได้
เพื่อให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) ทำงานได้อย่างสมบูณ์ กรณีที่เกิดการลัดวงจรและมีไฟรั่วปริมาณมากที่อุปกรณ์ไฟฟ้า หากมีการต่อลงดินของอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้องจะทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านสายดินที่มีความต้านทานต่ำกลับไปครบวงจรที่แผงเมนสวิตช์ได้อย่างสะดวก เมื่อกระแสไฟลัดวงจรปริมาณมาก อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินจึงทำงานตัดวงจรได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว